โครงการ การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 18
(18th Thailand Olympiad in Informatics (18th TOI))
มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ระหว่างวันที่ 1-4 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ผู้รับผิดชอบโครงการ

  1. มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.)
  2. ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หลักการและเหตุผล

ตามที่มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.) ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการมุ่งส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามารถทางคอมพิวเตอร์และวิทยาศาสตร์ ให้มีโอกาสพัฒนาการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมทั้งเป็นการพัฒนามาตรฐานการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ และวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมศึกษาให้ทัดเทียมกับระดับสากล นอกจากนั้นยังเป็นการสนับสนุนนักเรียนที่มีศักยภาพสูงทางด้านคอมพิวเตอร์และวิทยาศาสตร์ ให้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติ ในสาขาต่าง ๆ ได้

ทางมูลนิธิ สอวน. จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค 11 แห่ง และโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ 6 โรงเรียนเป็นศูนย์ สอวน. เพื่อดำเนินการอบรมและเตรียมความพร้อม รวมทั้งคัดเลือกนักเรียนเข้าไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับประเทศตลอดจน เตรียมครูวิทยาศาสตร์ ครูคณิตศาสตร์ ให้มีคุณภาพ และมีความพร้อมที่จะช่วยพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2543 โดยมีสาขาที่ดำเนินการ 6 สาขา คือ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ ในปีการศึกษา 2547 ได้เพิ่มศูนย์ สอวน. ขึ้นอีก 2 คือ ศูนย์ สอวน. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ ศูนย์ สอวน. โรงเรียนเตรียมทหาร โดยการดำเนินการที่ผ่านมามีผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ สอวน. คือ สามารถคัดเลือกนักเรียนจากศูนย์ สอวน. ไปเป็นตัวแทนแข่งขันโอลิมปิกระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้พัฒนาความรู้และเพิ่มศักยภาพของครูจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2548 มูลนิธิ สอวน. ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการสนับสนุนให้สาขาวิชาต่าง ๆ จัดการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับประเทศ

สำหรับสาขาคอมพิวเตอร์ ได้ดำเนินการจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติมาแล้วทั้งสิ้น 17 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2548 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน และในปี พ.ศ. 2565 นี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 18 ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการจัดกิจกรรมการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงขอเสนอโครงการ การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 18 (18th Thailand Olympiad in Informatics (18th TOI)) ในระหว่างวันที่ 1-4 มิถุนายน 2565 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาส 100 ปี ชาตกาลสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  2. เพื่อยกระดับ และกระตุ้นให้มีให้มีการพัฒนาหลักสูตร และมาตรฐานของระบบการเรียนการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ
  3. เพื่อทำให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันเกิดความรักและสนใจที่จะมุ่งเน้นศึกษาทางด้านคอมพิวเตอร์ หรือศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับอุดมศึกษา จนอาจประกอบอาชีพทางคอมพิวเตอร์ในอนาคต
  4. เพื่อคัดเลือกนักเรียนที่เข้าอบรมวิชาคอมพิวเตอร์ที่เป็นตัวแทนจากศูนย์ สอวน. ทั้ง 13 ศูนย์ทั่วประเทศ ให้เป็นตัวแทนเข้าร่วมการอบรมค่ายโอลิมปิกวิชาการ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในรอบต่อไป
  5. เพื่อให้คณาจารย์จากศูนย์ สอวน. ทุกศูนย์มีประสบการณ์ร่วมกันในการเข้าร่วมจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งสามารถนำไปใช้ปรับปรุงการสอน รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการอบรมทางวิชาการในสาขาคอมพิวเตอร์ให้ดียิ่งขึ้น
  6. เพื่อสร้างโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนทางความคิดของนักเรียน ตัวแทนครูจากโรงเรียน และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ

กำหนดการและสถานที่การจัดการแข่งขัน

กำหนดการจัดการแข่งขัน : วันที่ 1-4 มิถุนายน 2565
สถานที่จัดการแข่งขัน : คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผู้เข้าร่วมโครงการ

ลำดับ ผู้เข้าร่วม จำนวน
1
นักเรียนตัวแทนจากศูนย์ สอวน. ทั่วประเทศ 13 ศูนย์ และนักเรียนจาก สสวท.
92 คน
2
อาจารย์ผู้แทนศูนย์
30 คน
3
ครูสังเกตการณ์
12 คน
4
คณะกรรมการอำนวยการ
11 คน
5
คณะกรรมการฝ่ายวิชาการ
20 คน
6
คณะกรรมการดำเนินงานและกรรมการฝ่ายต่าง ๆ
75 คน
7
นักศึกษาพี่เลี้ยง
22 คน
8
นักศึกษาช่วยงาน
20 คน
รวมจำนวนทั้งสิ้น
282 คน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. สามารถยกระดับและกระตุ้นให้มีการพัฒนาหลักสูตร และมาตรฐานของระบบการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ของประเทศ ให้ทัดเทียมนานาประเทศ
  2. ได้กระตุ้นและส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงความสารถทางด้านวิชาการและพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงขึ้น
  3. ได้ตัวแทนเข้าร่วมการอบรมค่ายโอลิมปิกวิชาการ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในรอบต่อไป
  4. คณาจารย์จากศูนย์ สอวน. ได้ฝึกประสบการณ์ร่วมกันในการเข้าร่วมจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ระดับชาติ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งสามารถนำไปใช้ปรับปรุงการสอน รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการอบรมทางวิชาการในสาขาคอมพิวเตอร์ให้ดียิ่งขึ้น
  5. ครูสังเกตการณ์จากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศได้มีประสบการณ์ในการจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ
  6. เพื่อสร้างโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนทางความคิดของนักเรียน ตัวแทนครูจากโรงเรียน และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ