ประวัติโอลิมปิกวิชาการ

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Education Scientific and Cultural Organization : UNESCO ) ยอมรับว่าการแข่งขันวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โอลิมปิกระหว่างประเทศ (International Science and Mathematical Olympiad – ISMO ) เป็นการแข่งขันความสามารถทางปัญญาเกี่ยวกับวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ระหว่างเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาที่มีอายุไม่เกิน ๒๐ ปี จากนานาประเทศทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสาะแสวงหาเยาวชนผู้มีอัจฉริยะภาพทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์จากทั่วโลก ให้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ ระหว่างเยาวชนจากนานาประเทศ

ความคิดนี้ เกิดขึ้นจากกลุ่มนักวิชาการที่มีความคิดและความเชื่อว่า ในทุกประเทศมีเยาวชนผู้มีอัจฉริยะทางปัญญาอยู่เป็นจำนวนมากและเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ หากจัดให้เยาวชนเหล่านั้นมาแข่งขันกันในด้านวิชาการเช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ก็จะเป็นการพัฒนาความสามารถพิเศษทางปัญญาของเยาวชนให้มีความสามารถยิ่งๆขึ้นไป อันจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว

ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนียเป็นประเทศแรก ที่ดำเนินการเป็นเจ้าภาพเชิญประเทศต่างๆ ๖ ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศแถบยุโรปตะวันออก ให้ส่งเยาวชนเข้าแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก (International Mathematical Olympiad : IMO) เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ ๒๕๐๒ (ค.ศ ๑๙๕๙ ) โดยมีเป้าหมายเพื่อเสาะแสวงหาและสนับสนุนเยาวชนที่มีอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ ส่งเสริมมิตรภาพระหว่างนักเรียนและคณาจารย์ระหว่างประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูล หลักสูตร และวิธีการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ระหว่างกัน จากการเริ่มต้นนี้ทำให้นานาประเทศเห็นคุณค่าและประโยชน์ของกิจกรรม จึงได้มีประเทศต่าง ๆ ขอเข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นทุกปี และได้เพิ่มสาขาวิชาที่แข่งขันมากขึ้น ดังนี้

  • ฟิสิกส์ (International Physics Olympiad: IPhO) พ.ศ. ๒๕๑๐
  • เคมี (International Chemistry Olympiad:I ChO) พ.ศ.๒๕๑๒
  • คอมพิวเตอร์ (International Olympiad in Informatics: IOI) พ.ศ. ๒๕๓๒
  • ชีววิทยา (International Biological Oympiad: IBO ) พ.ศ. ๒๕๓๓
  • ดาราศาสตร์ (Astronomy Olympiad: IAO) พ.ศ. ๒๕๓๙
  • ภูมิศาสตร์ (Geography Olympiad: IGeo) พ.ศ. ๒๕๓๙
  • วิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (International Junior Science Olympiad: IJSO ) พ.ศ. ๒๕๔๗
  • ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ (International Olympiad on Astronomy and Astrophysics: IOAA) พ.ศ. ๒๕๕๐
  • วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ (International Earth Science Olympiad: IESO) พ.ศ. ๒๕๕๐

ภูมิหลังของโอลิมปิกวิชาการในประเทศไทย

ปี พ.ศ ๒๕๓๑ เริ่มจากคณะกรรมการ IMO มีหนังสือมาถึงนายบุญเริง แก้วสะอาด ผู้อำนวยการศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการเชิญ ให้ส่งนักเรียนไทยอายุไม่เกิน ๒๐ ปี เข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ โดยปีแรกจะต้องส่งคนไปสังเกตการณ์ก่อน ปีถัดไปจึงจะมีสิทธิ์ส่งนักเรียนไปแข่งได้ นายบุญเริงซึ่งเป็นกรรมการสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ฯได้นำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมซึ่งมีรองศาสตราจารย์ ดร.กำจัด มงคลกุล เป็นนายกสมาคม (ในขณะนั้น) หลังจากได้หารือร่วมกับนายกสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯ (ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.พรรคพงศ์สนิท สนิทวงศ์) ซึ่งยินดีที่จะช่วยทางวิชาคณิตศาสตร์ ทางสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯจึงได้ลงมติจะส่งนักเรียนไปแข่งขัน และได้รับการสนับสนุนจากศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการศึกษายินยอมให้ นางอัมพวัน กังดานเดินทางไปสังเกตการณ์การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ ๒๙ ณ ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ ๙ -๒๑ กรกฎาคม พ.ศ ๒๕๓๑ โดยทุนส่วนตัว เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตร วิธีการแข่งขัน แนวทางออกข้อสอบ การตรวจข้อสอบ ตลอดจนวิธีการตัดสินให้คะแนนและการให้เหรียญรางวัล

จากการไปร่วมสังเกตการณ์นี้เอง ทำให้ในปีถัดไปพ.ศ ๒๕๓๒ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯจึงได้รับเชิญให้ส่งนักเรียนไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่๓๐ ณ ประเทศสาธารณรัฐเยอรมัน(เยอรมันตะวันตก)ในปีพ.ศ ๒๕๓๒ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการ เข้าใจดีว่าต้องมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จำเป็นต้องรณรงค์หาการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา(พระยศในขณะนั้น) ได้ทอดพระเนตรเห็นการให้สัมภาษณ์ของนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯผ่านทางโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม จึงได้ประทานเงินส่วนพระองค์จำนวน 50,000 บาท และได้ชักชวนพระสหาย 2 ท่านร่วมสนับสนุนอีก 40,000 บาทให้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯเพื่อใช้ในการดำเนินการ ทรงเป็นพระองค์แรกที่ให้การสนับสนุน นับเป็นพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ซึ่งทำให้ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและภาครัฐเป็นอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท) ดร.เฉลียว มณีเลิศ ผู้อำนวยการสสวท.ขณะนั้นได้เปลี่ยนงบประมาณเงินเดือนเหลือจ่ายประมาณ ๖ แสนบาทโดยความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ ช่วยเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการครั้งนี้ รวมทั้งยินดีให้ใช้เป็นสถานที่อบรมนักเรียนด้วย

นักเรียนไทยที่เข้าร่วมอบรมตรั้งแรกนี้มีจำนวน ๑๒ คน มาจาก ๓ แหล่ง คือ ๙ คนจากค่ายเยาวชนช้างเผือกปูนซิเมนต์ไทย ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการศึกษา ๑ คนจากการแข่งขันคณิตศาสตร์ของสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ และ ๒ คนจากโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท) ของสสวท. เมื่อเสร็จสิ้นการอบรม สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้เสด็จมาประทานเกียรติบัตรให้นักเรียนทุกคนเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ ๒๕๓๒ นักเรียนที่คัดไว้ ๖ คน คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้ส่งไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ ๓๐ ผลจากการแข่งขันไทยได้ ๑ เหรียญทองแดง และ ๒ เกียรติคุณประกาศ

หลังจากจบการแข่งขันแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้โปรดเกล้าฯให้รองศาสตราจารย์ ดร.กำจัด มงคลกุลและคณะกรรมการจัดการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศเข้าเฝ้าถวายรายงาน ได้ทรงประทานคำแนะนำให้ขยายการดำเนินการไปยังสาขาอื่นๆและให้ขยายการคัดเลือกไปทั่วประเทศ ทั้งทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์และให้การสนับสนุน จึงเกิด “โครงการจัดส่งเยาวชนไทยไปแช่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โอลิมปิกระหว่างประเทศ”ขึ้นโดยมีนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยนายกสมาคมด้านวิชาการ และหน่วยงานทึ่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ มีผู้อำนวยการสสวท.เป็นกรรมการและเลขานุการ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯได้เร่งดำเนินการขอการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหวันเป็นนายกรัฐมนตรี และพลเอกมานะ รัตนโกเศศเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของโครงการนี้และยินดีให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ แต่สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯเป็นองค์กรเอกชน ไม่อาจรับงบประมาณโดยตรงได้ ทางสมาคมฯขอให้ส่งผ่านสสวท.เพราะเป็นหน่วยงานด้านเดียวกันและเป็นเลขานุการโครงการจัดส่งเยาวชนไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศด้วย

พ.ศ ๒๕๓๒ ประเทศไทยได้ส่งนักเรียน ๖ คนไปแข่งขัน IMO ครั้งที่ ๓๐ ณ เมือง บราวน์ชไวท์ (Braunschweig) ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน(เยอรมนีตะวันตก) ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๒ ผลการแข่งขัน ไทยได้ ๑ เหรียญทองแดง ๒ เกียรติคุณประกาศ

พ.ศ ๒๕๓๓ ประเทศไทยได้ส่งนักเรียนไปแข่งขันเพิ่มอีก ๒ วิชา คือ ฟิสิกส์ และเคมี โดยวิชาฟิสิกส์ ส่งนักเรียน ๕ คน ไปแข่งขัน IPhO ครั้งที่ ๒๑ ณ เมืองโกรนิงเกน (Groningen )ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๕ – ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๓ ไม่มีผู้ได้รับรางวัล ส่วนวิชาเคมี ส่งนักเรียน ๔ คน ไปแข่งขัน IChO ครั้งที่ ๒๒ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๓๓ ผลการแข่งขัน ไทยได้ ๑ เหรียญทองแดง

พ.ศ ๒๕๓๔ ประเทศไทยได้ส่งนักเรียนไปแข่งขันเพิ่มอีก ๒ วิชา คือ คอมพิวเตอร์ และ ชีววิทยา โดยวิชาคอมพิวเตอร์ ส่งนักเรียน ๓ คนไปแข่งขัน IOI ครั้งที่ ๓ ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๓๔ ได้ ๑ เหรียญเงิน และ ๒ เหรียญทองแดง ส่วนวิชาชีววิทยา ส่งนักเรียน ๔ คนไปแข่งขัน IBO ครั้งที่ ๒ ณ เมืองมาค์ฮัชคาลา (Makhachkala) ประเทศสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ระหว่างวันที่ ๑ – ๗ กรกฎาคม ๒๕๓๔ ไทยได้ ๑ เหรียญเงิน ๓ เหรียญทองแดง

ทุกปีที่มีการคัดเลือกนักเรียนเพื่อส่งไปแข่งขันโอลิมปิกระหว่างประเทศ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จะทรงประทานเงิน 2 แสนบาทจากทุนการกุศลสมเด็จย่าสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการเป็นประจำทุกปี บางปีเพิ่มเติม หลังจากที่สสวท.นำโครงการนี้เข้าไปเป็นพันธกิจหลัก ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงประธานโครงการจากนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยเป็น ประธานบอร์ดสสวท.

หลังจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้ทรงตั้งมูลนิธิสอวน.ขึ้นในปี๒๕๔๒ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการจัดส่งเยาวชนไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่ากับงบประมาณและไม่ซ้ำซ้อนกัน สำนักงบประมาณได้เชิญเลขาธิการมูลนิธิสอวน. และผู้อำนวยการสสวท. ไปทำความตกลงกัน โดยมูลนิธิสอวน.รับผิดชอบในการรับสมัคร คัดเลือกนักเรียนผ่านศูนย์สอวน.ทั่วประเทศ และการแข่งขันระดับชาติเพื่อคัดเลือกนักเรียนที่มีศักยภาพสูงจำนวนหนึ่งส่งให้แก่ สสวท. เพื่ออบรมเข้มและคัดเลือกไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ

รองศาสตราจารย์เย็นใจ สมวิเชียร
ผู้รวบรวมเรียบเรียง

ความเป็นมาในสาขาคอมพิวเตอร์

สำหรับในสาขาคอมพิวเตอร์ มีการจัดการแข่งขันมาแล้ว 17 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2565 จะเป็นการจัดการแข่งขันในระดับชาติเป็นครั้งที่ 18 โดยภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 1 - 4 มิถุนายน

ตราสัญลักษณ์ ครั้งที่ ผู้จัด

No Image

TOI 1
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน

No Image

TOI 2
ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

TOI 3
ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

TOI 4
สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

TOI 5
สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

TOI 6
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

TOI 7
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

TOI 8
คอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

TOI 9
โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ร่วมกับภาควิชา
วิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

TOI 10
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

TOI 11
ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง

TOI 12
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

TOI 13
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ร่วมกับ
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล

TOI 14
ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ
คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

TOI 15
คณะวิทยาศาสตร์ และ คณะวิทยาการ
สารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา

TOI 16
สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

TOI 17
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

TOI 18
ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แหล่งที่มา

https://toi2020.kku.ac.th/